ถอดรหัส กุลธรเคอร์บี้
โรงงานคอมเพรสเซอร์แห่งแรกของไทย กว่า 40 ปี และอนาคตที่พร้อมเติบโต
คอมเพรสเซอร์
คือ อุปกรณ์สำคัญที่สุดในระบบทำความเย็น
เรียกว่าเป็นหัวใจของเครื่องปรับอากาศและตู้เย็น ยิ่งในประเทศไทยที่เป็นเมืองร้อน
ท่ามกลางอุณหภูมิเกือบ 40 องศาเซลเซียส
คอมเพรสเซอร์
ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเป็นทวีคูณ
จึงกลายเป็นแนวคิดเรื่องการจัดตั้งโรงงานคอมเพรสเซอร์
ที่ถือเป็นอุตสาหกรรมแรกๆ
ที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับความต้องการใช้งานทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศ และบริษัท
กุลธรเคอร์บี้ จำกัด (มหาชน) ได้รับเลือกให้เป็นโรงงานคอมเพรสเซอร์แห่งแรกของไทย
โอกาสนี้ brand inside พามาคุยกับ สุเมธ และ สุรพร สิมะกุลธร สองผู้ริเริ่มและก่อตั้ง
กุลธรเคอร์บี้
ผู้ผลิตคอมเพรสเซอร์
อุปกรณ์ทำความเย็นในตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศที่พาธุรกิจเดินทางมากว่า 40
ปี
จากช่างเทคนิค สู่เซลล์แมน ก่อนจะเป็น
กุลธรเคอร์บี้
สุเมธ สิมะกุลธร ผู้ก่อตั้งและอดีตประธานกรรมการ
เล่าว่า ย้อนกลับไปก่อนที่จะมีโรงงานคอมเพรสเซอร์ในไทย
ทุกอย่างต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนตัวเริ่มทำงานเป็นช่างซ่อมช่างเทคนิค
และขยับขยายมาเป็นพนักงานขาย ทำให้กลายเป็นเซลล์ที่มีความรู้เรื่องช่างเป็นอย่างดี
ระหว่างที่นำเข้าอุปกรณ์ทำความเย็นมาจำหน่าย คือ ตู้แช่เย็นตามร้านขายของชำ
จุดเด่นในตอนนั้นคือ ไม่ได้จำหน่ายเพียงอย่างเดียว
แต่สามารถให้คำแนะนำร้านค้าในการติดตั้ง ซ่อมบำรุง ได้เป็นอย่างดี
ลูกค้าจึงถูกใจและใช้บริการอย่างเหนียวแน่นมาโดยตลอด
จนกระทั่งรัฐบาลมีนโยบายตั้งโรงงานคอมเพรสเซอร์ขึ้นในไทย
สุเมธ เล่าว่า กุลธรเคอร์บี้ได้รับเลือกจากรัฐบาล
ในฐานะบริษัทคนกลางในการผลิตคอมเพรสเซอร์ โดยส่วนตัวถือหุ้น 20% ร่วมกับบริษัท KIRBY Australia ผู้ผลิตคอมเพรสเซอร์จากออสเตรเลีย ในฐานะพันธมิตรถือหุ้นอีก 20% ส่วนอีก 60% เป็นโรงงานผู้ผลิตตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศ
ร่วมกับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเข้ามาถือหุ้น
เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดตลาดคอมเพรสเซอร์ขึ้น และนั่นคือการเริ่มต้นของ
กุลธรเคอร์บี้ อย่างเป็นทางการ
เรียกได้ว่าจากความสามารถในการผลิตและเทคโนโลยีที่นำสมัยในเวลานั้น
ทำให้ยอดการส่งออกคอมเพรสเซอร์จากไทยติดอันดับท็อปของโลก
เป็นรองเพียงแค่สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นเรื่อยมาถึงปัจจุบันที่เป็นรองจีนเท่านั้น
สุรพร สิมะกุลธร อีกหนึ่งผู้ก่อตั้ง
รวมถึงเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ และอดีตประธานกรรมการ ของกุลธรเคอร์บี้ บอกว่า
จุดเด่นอีกประการที่ชัดเจนของกุลธรเคอร์บี้
คือการเป็นผู้ผลิตคอมเพรสเซอร์ประเภทลูกสูบ ซึ่งมีความแข็งแรง ทนทาน
รองรับงานหนักได้เป็นอย่างดี ซึ่งทั้งหมดเริ่มต้นมาจากการมีโรงงานที่ได้มาตรฐานสากล
จากการก่อสร้างโรงงานแห่งแรกตั้งแต่ปี
2523 และเสร็จในปี 2524 บนพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง
ก่อนจะขยายพื้นที่โรงงานให้ใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับการผลิตที่หลากหลายและปริมาณที่เพิ่มขึ้น
จนถึงปัจจุบัน
ทำให้หลายแบรนด์เครื่องปรับอากาศและตู้เย็นทั่วโลกเชื่อมั่นในกุลธรเคอร์บี้
“ถ้าพูดถึงคอมเพรสเซอร์แบบลูกสูบ
กล้าพูดได้เต็มปากว่า กุลธรเคอร์บี้ คือ อันดับ 1 ในยุทธจักรนี้
เรามีครบวงจรที่สุด”
อีกหนึ่งวิกฤตที่ กุลธรเคอร์บี้
ก้าวผ่านมาได้ คือ วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ซึ่งทุกอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบทั้งสิ้น
ในเวลานั้น สุธี
สิมะกุลธร ประธานกรรมการ
และ รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายการเงิน
ถือว่ามีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้กุลธรเคอร์บี้ผ่านพ้นวิกฤตมาได้ โดยได้เข้ามาช่วย
สุรพร วางแผนด้านการเงินและปรับโครงสร้างหนี้
เป็นการเข้ามาเติมเต็มให้กับบริษัทซึ่งขาดความเชี่ยวชาญในด้านนี้
นอกจากนี้ สุธี
ยังมีส่วนสำคัญในการเข้าซื้อสายการผลิตของ Bristol มาจากสหรัฐอเมริกา
ทำให้บริษัทสามารถรับมือการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น การมี Bristol เข้ามาเติมเต็มขนาดที่ใหญ่ขึ้นของคอมเพรสเซอร์
ทำให้บริษัทเป็นหนึ่งในโรงงานผลิตคอมเพรสเซอร์สำหรับเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นที่มีขนาดใหญ่ที่สุด
ทำให้ผลิตภัณฑ์ของกุลธรเคอร์บี้ครอบคลุมทุกแอปพลิเคชั่นการใช้งาน
ดังนั้น ปลายปี 2561 จึงได้เข้าซื้อสายการผลิตและเครื่องจักรของ Bristol ซึ่งเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงมากในตลาดฝั่งอเมริกา,
ตะวันออกกลาง และยุโรป มาผลิตในประเทศไทย ระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา Bristol USA ได้ปิดการผลิตลง
เป็นโอกาสในการสร้างแบรนด์ Kulthorn Bristol ไปทดแทนตลาดเดิมที่ลูกค้าใช้อยู่แล้ว
และเปิดตลาดใหม่ๆ
ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้บริษัทก้าวสู่ระดับโลกได้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม จากนโยบาย Free Trade Agreement ของรัฐบาลระหว่างไทยกับจีน
ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ นั่นคือ ภาษีนำเข้าคอมเพรสเซอร์ลดลงจาก 30%
เหลือ 0% ภาษีนำเข้าเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นจาก
60% เหลือ 5% ทำให้การนำเข้าจากจีนคุ้มกว่าการผลิตในประเทศ
ดังนั้นผู้จำหน่ายตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศในไทยจึงลดและเลิกผลิต
เปลี่ยนเป็นนำเข้าแทนและทำให้ช่วงนั้นกุลธรเคอร์บี้ประสบปัญหาเช่นกัน
แต่จากการซื้อสายการผลิตจาก Bristol รวมถึงแต่ความสามารถด้วยการปรับตัว
มองหาช่องทางและโอกาสอยู่เสมอ ทำให้กุลธรเคอร์บี้ ปรับทิศทางมาเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม
เน้นคอมเพรสเซอร์แบบลูกสูบ และทำตลาดต่างประเทศเป็นหลัก
ปัจจุบันกุลธรเคอร์บี้อยู่ภายใต้การนำทัพของ ฐิติศักดิ์ สิมะกุลธร ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่
ซึ่งถือเป็นเจนเนอเรชั่นที่ 2 ระบุว่า รุ่นคุณลุงและคุณพ่อ
(สุเมธและสุรพร) ได้เริ่มต้นและสร้างกุลธรเคอร์บี้มาอย่างแข็งแกร่ง
ดังนั้นความท้าทายคือ การสานต่อธุรกิจ ขยายตลาด
และต่อยอดไปสู่ยุคใหม่ของกุลธรเคอร์บี้
“การแข่งขันทั่วโลกดุเดือดมาก การวางกลยุทธ์คือสิ่งสำคัญ แน่นอนว่ากุลธรเคอร์บี้มีจุดเด่นที่คอมเพรสเซอร์ลูกสูบ
แต่ต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยี ปรับปรุงระบบเครื่องจักรให้ทันสมัย
และเลือกทำตลาดในผลิตภัณฑ์ที่มีโอกาส”
กว่า 40 ปีของการเป็นผู้ผลิตคอมเพรสเซอร์เจ้าแรกในไทย ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านอุปสรรคและวิกฤตต่างๆ และยังสามารถคงความแข็งแกร่งไว้ได้ ทำให้กุลธรเคอร์บี้ เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมขงไทยที่ไม่ได้ธรรมดา จากนี้ต้องมารอดูกันว่ากุลธรเคอร์บี้ยุคใหม่จะมีทิศทางอย่างไรต่อไปทั้งในตลาดไทยและตลาดโลก
ขอขอบคุณข่าวจาก : brand inside